ชีวิตที่เติบโต
เด็กชายคนหนึ่งอยากได้ของเล่นเป็นรถยนต์บังคับ ทุกค่ำหนูน้อยจะคุกเข่าภาวนา อีกทั้งย้ำเตือนพระเจ้าถึงความปรารถนาของเขา “ขอให้หนูได้รถบังคับในวันคริสต์มาสด้วยเถิด” ...คริสต์มาสมาถึงและผ่านไป แต่ไม่มีรถยนต์บังคับสำหรับเขา
วันเกิดของหนูน้อยใกล้จะมาถึง เขาจึงเพิ่มคำขอพิเศษทุกคืนสำหรับสิ่งที่เขาตั้งความหวัง “ได้โปรดเถิดครับ พระองค์ หนูจะไม่ขออะไรอื่น ขอแค่รถยนต์บังคับให้หนูเท่านั้น” แต่เมื่อเขาแกะกล่องของขวัญ กลับไม่มีรถบังคับ
วันวาเลนไทน์ใกล้เข้ามา เด็กน้อยยังไม่ละความพยายาม “หนูไม่ขอสิ่งใดเลย ขอเพียงให้หนูได้รถยนต์บังคับสักคันเถิด” พี่ชายของเขาฟังคำอธิษฐานยามค่ำของน้องชายและเบื่อที่จะฟังเรื่องรถยนต์บังคับแล้ว เขากล่าวกับน้องชายอย่างหมดความอดทนว่า “พระเจ้าไม่ตอบคำขอของเธอหรอก เลิกขอได้แล้ว”
“แต่พระเจ้ากำลังตอบคำขอของผม” น้องชายยืนยัน
“แต่พระเจ้าไม่ตอบคำขอของเธอในวันคริสต์มาส หรือแม้แต่ในวันเกิดของเธอ” พี่ชายแย้ง
“ตอบซิ พระองค์ทรงตอบ”หนูน้อยตอบ
“พระเจ้าตอบหนูว่า ‘ไม่’ ไงล่ะ”
บ่อยครั้งในชีวิต ดูเหมือนว่าพระเจ้าจะไม่ทรงตอบสนองต่อสิ่งจำเป็นที่เราเฝ้าวอนขอ ซ้ำร้ายในเวลาที่เราพบกับความยากลำบาก สุดแสนจะทานทน พระองค์กลับทรงนิ่งเฉย ...เพลงสดุดีที่ 22 เป็นหนึ่งในบทเพลงของผู้รับใช้ที่ต้องทนทุกข์ ผู้เขียนแต่งบทภาวนานี้เพื่อวอนขอพระเจ้าให้สดับฟังความทุกข์ยากของเขา (ซึ่งเราไม่ทราบแน่ชัดว่าคือความทุกข์ในเรื่องใด) บทเพลงเริ่มด้วยการตัดพ้ออย่างขมขื่นว่า พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า เหตุใดพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า (22:2) พระเยซูเจ้าเองเมื่อทรงรับทรมานบนกางเขน พระองค์ก็ทรงเปล่งวาจาข้างต้นออกมาเช่นกัน เพื่อร้องขอพระบิดาเจ้าให้ทรงสดับฟัง แต่ดูเหมือนว่าในเวลาดังกล่าว ทุกอย่างกลับเงียบสงบ ไม่พบทางออก
ผู้แต่งบทสดุดีกล่าวต่อไปว่า พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าเรียกหาเวลากลางวัน แต่พระองค์มิได้ทรงตอบ เรียกหาเวลากลางคืน แต่ข้าพเจ้าไม่พบความสงบใจเลย (22:3) ดูเหมือนว่าความทุกข์ทรมานของมนุษย์จะคู่ขนานไปกับความนิ่งเฉยของพระเจ้า จนทำให้ผู้เขียนประชดประชันพระองค์ในทำนองที่ว่า ...พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าที่ยิ่งใหญ่ประทัยอยู่เหนือบัลลังก์แห่งอิสราเอล (เทียบ 22:4) พระองค์ทรงไถ่กู้บรรดาบรรพบุรุษผู้วางใจในพระองค์ (เทียบ 22:5-6) ส่วนข้าพเจ้าเล่าเหตุใดพระองค์จึงทรงทอดทิ้ง ข้าพเจ้าดูเหมือนจะไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นเหมือนตัวหนอนที่ไม่มีสิทธิเรียกร้องขอสิ่งใด ศัตรูรายล้อมข้าพเจ้าเหมือนสัตว์ดุร้ายเตรียมขย้ำ (สิงโตที่แผดเสียงคำรามและสุนัขที่รายล้อมเป็นภาพที่เปรียบเทียบของศัตรูที่น่าหวาดกลัว เทียบ 22:13-14, 17, 21-22) พวกเขาคุกคามชีวิตข้าพเจ้า ผู้คนที่พบเห็นข้าพเจ้าต่างเหยียดหยามข้าพเจ้า ข้าพเจ้าถูกศัตรูดูหมิ่นและเยาะเย้ย ประหนึ่งคำกล่าวว่า “พระเจ้าของเจ้าไปอยู่ที่ไหน ให้พระองค์ลงมาช่วยเจ้าเถิด” (เทียบ 22:7-8) ...ขณะที่พระเยซูเจ้าเกือบจะสิ้นพระชนม์บนกางเขนพระองค์ก็ประสบกับความรู้สึกเช่นนี้เหมือนกัน เพราะบรรดาหัวหน้าสมณะและธรรมาจารย์เยาะเย้ยพระองค์ว่า เขาไว้วางใจในพระเจ้า หากพระองค์พอพระทัยเขา ขอให้พระองค์ทรงช่วยเขาบัดนี้เถิด (มธ 27:43)
ผู้เขียนดูเหมือนจะใช้ภาษาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยกล่าวว่า พระองค์ทรงกระชากข้าพเจ้าออกจากครรภ์มารดา ออกจากความอบอุ่นแห่งอ้อมอกมารดา ข้าพเจ้าถูกดึงออกมาในวันที่กำเนิด จากครรภ์มารดามาสู่พระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า (22:10-11) บางทีผู้เขียนบทสดุดีอาจจะเป็นบุคคลหนึ่งที่มีหน้าที่รับใช้ในพระวิหาร อีกทั้งข้อความข้างต้นยังทำให้เรานึกถึงซามูแอลที่ต้องจากมารดามาตั้งแต่เด็กเพื่อมารับใช้พระยาห์เวห์ ...ตามปกติชาวเลวีจะได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ด้านพิธกรรมตั้งแต่อายุยี่สิบ (1พศด 23:24) ยี่สิบห้า (กดว 8:23) หรือไม่ก็สามสิบปีและปฏิบัติหน้าที่ไปจนอายุห้าสิบปี (กดว 4:3) ผู้เขียนบทสดุดีให้ภาพของการที่เขาถูกเลือกให้จากมารดามาตั้งแต่เกิด เพื่อมาเป็นของพระองค์ทั้งครบ แล้วเหตุใดจึงดูเหมือนจะทรงเมินเฉย ไม่ใยดีต่อคำวอนขอ และยังรีรอที่จะให้ความช่วยเหลือในยามยากลำบาก
ที่สุดไม่ว่าจะมืดมนเพียงใด แม้ว่าเขาจะยังไม่ได้รับคำตอบจากพระเจ้า หลังจากที่ได้แสดงความรู้สึกส่วนลึกของจิตใจแล้ว ผู้แต่งบทสดุดีก็ยังคงวางใจและฝากทุกสิ่งไว้ในความคุ้มครองของพระเจ้า เขาประกาศพระนามพระองค์แก่บรรดาพี่น้องและหมู่คณะ (22:23) และเชิญชวนพวกเขาให้สรรเสริญพระองค์ด้วย (22:24)
[Cf.H.SIMIAN-YOFRE, Sofferenza dell’Uomo e Silenzio di Dio. Nell’Antico Testamento e nella Letteratura del Vicino Oriente Antico (Studia Biblica 2; Roma 2005) 35-53.]
ตามที่บทสดุดีได้กล่าวไว้เรามนุษย์เป็นเหมือนหนอนตัวน้อยที่ไม่มีสิทธิเรียกร้องหรือคาดคั้นสิ่งใดจากพระเจ้า บางทีความช่วยเหลือของพระเจ้าอาจมาถึงช้าในความรู้สึกของเรา แต่อย่าลืมว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า ทรงยั่งรู้ทุกสิ่ง พระองค์ทรงทราบดีถึงความประสงค์ของเรา แต่บางครั้งสิ่งที่เราต้องการนั้นอาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมที่สุด พระเจ้าทรงรักเราและดูแลเราเสมอ พระองค์ทรงเดินเคียงข้างเวลาที่เรามีความทุกข์ พระองค์ไม่ทรงทอดทิ้งบรรดาลูกๆ ของพระองค์ เพียงแต่ในเวลาที่เราพบกับอุปสรรคนั้น เราอาจจะมองไม่เห็นความรักของพระเจ้าชั่วขณะ เพราะเรากำลังมัวแต่สาละวนจมอยู่กับปัญหาของเรา ดังนั้น ให้เราได้ระลึกถึงชีวิตที่ผ่านมา และเราจะเห็นว่าพระองค์ทรงดูแลเราและช่วยเราให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปได้ทุกครั้ง ขอให้เราวางใจในพระองค์เสมอเถิด เพราะเราจะไม่มีวันผิดหวังหรือพลาดพลั้งบนหนทางของพระองค์
(ที่มา : ปลัดนุ. “เหตุใดพระองค์จึงทรงนิ่งเฉย.” ใน ขุมทรัพย์ในภาชนะดินเผา 3, หน้า 89 – 92. กรุงเทพฯ : สื่อมวลชนคาทอลิกแห่งประเทศไทย, 2551.)